068 ธรรมปัจเวกขณ์ พระพุทธเจ้าของเรา ทรงเปรียบการปฏิบัติธรรมไว้ว่า เสมือนกับกำหญ้าคา พระองค์ทรงสอนพวกเราไว้ว่า ในการกำ หญ้าคานั้น เราจะต้องกำให้แน่น ถ้ากำหญ้าคาไม่แน่นแล้ว หญ้าคาก็จะบาดมือเราได้ ในการปฏิบัติธรรม ก็เช่นกัน เมื่อเรารัก ในการปฏิบัติธรรมแล้ว เราก็จะต้องปฏิบัติ อย่างเอาจริงเอาจัง เป็นผู้มี ความระมัดระวัง ยึดมั่นในความบริสุทธิ์ แห่งศีลของตน ถ้าเราเป็นผู้ที่เหลาะแหละ เป็นผู้ที่ประมาทอยู่ เป็นผู้ที่มีศีลอยู่ อย่างด่างพร้อยแล้ว การปฏิบัติธรรม ก็ย่อมนำความเจ็บปวด นำความทุกข์ทรมาน มาสู่ตัวเรา ฉะนั้น เมื่อเราคิดจะกำหญ้าคาแล้ว เราก็พึงที่จะต้องกำหญ้าคานั้นให้แน่น เป็นผู้ที่มั่นคง อยู่ในศีลวัตร ของเราให้ได้ เป็นผู้ที่ไม่ทอดทิ้ง ในนิสัย ๔ อันเป็นฐานะแห่งนักบวช เป็นผู้ที่หมั่นเจริญอยู่ ซึ่งอปริหานิยธรรม อันเป็นกิจกรรม ที่จะนำความเจริญ ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน เป็นผู้ที่ระลึกถึง จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล และสุข นำความสบายใจ และเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใส แก่พุทธบริษัทต่างๆได้ อย่างนั้น ในการกำหญ้าคาของเรา เราจะต้องกำให้แน่น กำให้มั่นคง กำให้ตั้งมั่น อยู่ในศีลวัตร อยู่ในข้อปฏิบัติ อยู่ในกฎเกณฑ์ต่างๆ อันเป็นฐานะของเรา ที่เศร้าหมอง พรหมจรรย์ของเรา ก็ย่อมเป็น พรหมจรรย์ ที่ไม่สะอาด ฉะนั้น พระพุทธเจ้า จึงให้เราได้ระลึกกันไว้อยู่เสมอๆๆว่า เราเองนั้น วันคืนที่ผ่านไป เราเป็นผู้ที่ ติเตียนตัวเราเอง ได้หรือไม่ ก็เป็นข้อหนึ่ง ที่เราจะต้องพิจารณา หากเราสามารถติเตียนเราได้แล้ว เราจะต้อง พึงแก้ไขปรับปรุง เป็นผู้ที่มีหิริ โอตตัปปะ จึงจะเป็นผู้ที่สามารถ ที่จะทรงคุณธรรม แห่งเทวดาไว้ได้ ถ้าหากเราไม่เป็น ผู้ที่มี หิริโอตตัปปะแล้ว เทวธรรมก็ย่อมเสื่อมจากเราไป เราย่อมเป็นผู้ที่หมดบุญ เมื่อหมดจาก เทวธรรมแล้ว เราก็ย่อมเข้าไปสู่อบาย ทุคติ จิตของเรา ย่อมมีแต่ความเศร้าหมอง อย่างนั้น เราจึงต้องมี หิริโอตตัปปะ อยู่เสมอๆ เป็นผู้ที่ สามารถระลึกตลอดเวลาว่า วันคืนที่ผ่านไป เราสามารถ ติเตียนตัวเราเอง ได้หรือไม่ และนอกจาก เราจะสามารถติเตียนตัวเราเองได้แล้ว หรือบางที เราอาจจะไม่สามารถติเตียน ตัวเราเองได้ เราอาจจะอนุโลม ให้กับตัวเราเองได้ แต่พระพุทธเจ้าก็ให้ข้อกำชับ ที่สูงขึ้นไป ยิ่งกว่านั้นว่า แล้วถ้าเราติเตียน ตัวเราเองไม่ได้ แล้วผู้รู้ล่ะ ถ้ามีผู้รู้ ใคร่ครวญดีแล้วนี่ ท่านจะติเตียนได้ ท่านจะติเตียนตัวเรา ได้หรือไม่ อันนี้ก็เป็นข้อที่ พระพุทธองค์ทรงให้เรามี หิริโอตตัปปะ เพิ่มยิ่งขึ้นไปอีกว่า หากเราติเตียน ตัวเราเองไม่ได้แล้ว ถ้าผู้รู้ท่านได้มาเห็น การประพฤติ การปฏิบัติของเราอยู่ อย่างนี้ ผู้รู้จะสามารถ ติเตียนเราได้หรือไม่ ถ้าหากผู้รู้ ก็สามารถติเตียนเราได้ เราก็พึงจะต้องแก้ไข พึงเปลี่ยน พฤติกรรมนั้นๆ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อผู้รู้จะได้ ไม่ติเตียน พฤติกรรมของเราได้ การปฏิบัติของเรา ถ้าเรามีหิริโอตตัปปะ อันเป็นเทวธรรม มีคุณธรรมของเทวดา อย่างนี้ เราก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่เสื่อม จากบุญของเราเลย บุญของเราก็ย่อมที่จะเพิ่มพูน มากขึ้นไป เรื่อยๆ เพราะเรามี หิริโอตตัปปะ อยู่ในการปฏิบัติธรรม ของเราอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น หิริโอตตัปปะ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ในการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าท่าน เรียกว่า เทวธรรม เป็นคุณธรรม ของเทวดา เป็นผู้ที่รักษาบุญของตน ให้เจริญก้าวหน้าได้ อยู่เสมอๆ อย่างงั้น การมาปฏิบัติธรรม เราก็จะต้องระวังข้อที่ เมื่อมาปฏิบัติธรรมแล้ว ปฏิบัติไป แต่บุญเก่าของเรา ก็หมดไป หมดไป เราต้องระวัง เมื่อมาปฏิบัติธรรมแล้ว ยิ่งปฏิบัติไป บุญเก่าของเรา ก็หมดไปเรื่อยๆ ก็จะต้องมีวันหนึ่ง ที่เราจะต้องจากหมู่ จากคณะ จากกัลยาณมิตร อันเป็นสิ่งที่เรารักยิ่ง ผู้ที่หลุดไปนั้น ไม่มีใครเลยที่อยากจะไป ไม่มีใครเลยที่ไป ด้วยความเบิกบาน ไปด้วยความยินดี ทุกๆคน ต้องจากไป ด้วยน้ำตาทั้งนั้น แต่เขาก็จะต้องจากไป เพราะบุญของเขา ได้หมดแล้ว ไม่มีใครที่อยากจะจากไปเลย แต่บุญของเขาหมด เขาก็จะต้องจากไป แม้แต่เราเอง ก็เช่นเดียวกัน ในการมาปฏิบัติธรรม ถ้าเราไม่พากเพียร ไม่มีหิริโอตตัปปะ ไม่มีความละอาย ไม่มีความใคร่ครวญ ในศีลของเราแล้ว ไม่สร้างเทวธรรม ของเราให้เพิ่มขึ้น การมาปฏิบัติธรรม เราจะเป็นผู้ที่บุญเก่าของเรา ก็หมดไปได้เช่นกัน โดยเฉพาะ ยิ่งเราได้ฐานอาศัย เรามีแป้นเป็นที่อยู่ เรามีบัลลังก์ เป็นที่เสพที่ครอง ก็จะทำให้เราไม่พากเพียร ไม่พยายาม เพิ่มขึ้น เพราะเรามีบัลลังก์แล้ว เรามีแป้นเป็นที่พักแล้ว เราก็จะอยู่ตามสบายๆ การที่อยู่ด้วย ความสบายไป วันหนึ่งๆ โดยเราไม่ทะลวง สักกายะของเรา ให้เล็กลงไป เราไม่พากเพียร เราไม่พยายาม ให้เพิ่มขึ้น ก็เป็นการปฎิบัติ ที่เรากินบุญเก่าไป ซึ่งบุญเก่าที่เรากินไปเรื่อยๆ ย่อมมีแน่นอน สักวันหนึ่ง ที่มันจะหมดไปได้ อย่างนั้นในการมาปฏิบัติธรรม ของพวกเรา เราจึงต้องควรระวัง ที่จะไม่ให้บุญเก่าหมด ถ้าบุญเก่าหมดแล้ว เราจะต้องหล่นไป จากธรรมวินัย ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ธรรมวินัยของท่านนั้น ผู้จะอยู่ได้ ก็จะคงอยู่ แต่ความบริสุทธิ์เท่านั้น ส่วนที่ไม่เป็นความบริสุทธิ์ ก็จะต้องถูกซัดขึ้นสู่ฝั่ง เหมือนมหาสมุทร ซัดซากศพ ขึ้นสู่ฝั่งฉันนั้น ฉะนั้น ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เป็นของที่บริสุทธิ์ สะอาด ผู้ที่จะอยู่ได้ ก็จะอยู่ได้ แต่ความบริสุทธิ์เท่านั้น ผู้ที่ไม่บริสุทธิ์ ก็จะถูกซัดขึ้นสู่ฝั่งไป พวกเราก็เหมือนกัน เรามาปฏิบัติธรรม วันคืนที่ผ่านไป เราจึงจะต้องไม่ผ่านไปโดยเปล่า ไม่ผ่านไปโดยการอยู่เฉยๆ ไม่ผ่านไปโดย การอยู่อย่างสบาย แต่เราจะให้เป็น วันคืนที่ผ่านไป โดยการที่จะทำจิตของเรา ให้มีความสะอาดยิ่งๆขึ้น เพราะเราได้มาอยู่ มาปฏิบัติธรรมกัน เรามาอยู่กับความจริง มาอยู่กับสมมุติ ที่เป็น ปรมัตถสัจจะ เป็นความจริง ที่แท้จริง เรามาปฏิบัติธรรมกัน เราไม่ได้มาปฏิบัติกันเล่นๆ แต่เราเอาชีวิต ของพวกเราทุกคน เป็นเดิมพัน อย่างนั้น เมื่อเรามีชีวิตเป็นเดิมพันอย่างนี้ เรามาอยู่กับสมมุติ ที่มันเป็นสมมุติสัจจะ ที่สูงสุดอย่างนี้ เราจึงจะทำเล่นไม่ได้เลย เรากำลังจะกระชากหญ้าคา ให้มันหลุดจากพื้นดินขึ้นมา เราจะกำเล่นๆ ไม่ได้เลย เราจะต้องกำจริง ถ้ากำไม่จริงแล้ว พระพุทธเจ้าก็พยากรณ์เอาไว้ว่า ผู้ใดที่ต้องร่วงจากธรรมวินัย ของท่านนั้น ผู้นั้นย่อมจะต้องพบกับความเสื่อม ความเสื่อมแห่งปัญญา ความเสื่อมแห่งศรัทธา ความเสื่อมแห่งศีล ผู้ที่จะต้องหยุด ผู้ที่จะต้องสึกออกมา จากการเป็นพระ ผู้ที่จะต้องสึกออกมา จากความเป็นนักบวช ผู้นั้นก็จะต้องพบ ความซวยก็ว่าได้ เป็นความเสื่อม ปัญญาก็เสื่อม ศรัทธาก็เสื่อม เหมือนคนที่หล่นจากต้นไม้ เมื่อหลุดไปแล้ว ก็ต้องเจอความจุก ก็ย่อมจะเสื่อมจากศรัทธา จากศีล จากปัญญาต่างๆ อันนี้ก็ข้ออันตรายจากการที่เรา เป็นผู้ประมาทอยู่ อย่างงั้น เราจะต้องระมัดระวัง แล้วก็จะต้อง สำนึกกัน ให้มากทีเดียว ว่าถ้าเราเป็นผู้ที่ หมดบุญแล้ว เราจะต้องลงไปจุก อย่างน่าสงสารทีเดียว แล้วก็ไม่มีใคร ที่จะช่วยเราได้ ดังนั้นวันคืนที่ผ่านไป เราจะต้องเป็นผู้ที่ อยู่โดยรักษา เทวธรรมของเรา ไม่ให้เสื่อม เป็นผู้ที่มีหิริ มีโอตตัปปะ มีละอาย มีความเกรงกลัวต่อบาป เป็นผู้ที่มั่นคงบริสุทธิ์ อยู่ในศีลวัตร ในข้อวัตรต่างๆ ของเรา ในกฎระเบียบ ต่างๆ ของหมู่ เป็นผู้ที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่กินแหนงใจตัวเอง แม้แต่เพื่อนสพรหมจรรย์ก็ไม่อาจ กินแหนงใจเราได้ เมื่อเรามี เทวธรรม มีคุณธรรมของเทวดา รักษาตนอยู่อย่างนี้ เราก็ย่อมจะไม่เสื่อมจากบุญของเรา โดยเราจะเป็น ผู้ที่จะพากเพียร บุญของเราให้มากขึ้น ๆ เราจะไม่เป็นผู้หมดบุญ เพราะผู้หมดบุญนั้น ย่อมพบกับความซวย โดยแท้ สาธุ ธรรมปัจเวกขณ์ ๒๕๒๖ |